เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 8. ปัพพชิตอภิณหสูตร
มหาลิ เพราะธรรม 10 ประการนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ฉะนั้น ความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรม หรือความประพฤติสม่ำเสมอคือความ
ประพฤติธรรม จึงมีปรากฏอยู่ในโลกนี้
มหาลิสูตรที่ 7 จบ

8. ปัพพชิตอภิณหสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
[48] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 10 ประการนี้ บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
1. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์
2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ
4. เราติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่
5. เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
6. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
7. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรม
เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดี
หรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
8. วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
9. เรายินดียิ่งในเรือนว่าง1อยู่หรือไม่

เชิงอรรถ :
1 ยินดียิ่งในเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงยินดีอยู่ผู้เดียวบำเพ็ญกายวิเวกให้บริบูรณ์ทุกอิริยาบถในที่สงัด(องฺ.ทสก.อ.
3/48/349) หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงความยินดีในเรือนว่างด้วยปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน ดูวินัยปิฎกแปล เล่มที่ 1 ข้อ 199 หน้า 186 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 9. สรีรัฏฐธัมมสูตร
10. ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ1อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์2
ที่เราบรรลุแล้วซึ่งจักเป็นเหตุให้เราไม่เก้อเขินเมื่อเพื่อนพรหมจารีถามใน
ภายหลัง มีอยู่หรือไม่
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 10 ประการนี้แล บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
ปัพพชิตอภิณหสูตรที่ 8 จบ

9. สรีรัฏฐธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมประจำสรีระ
[49] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมประจำสรีระ 10 ประการนี้ บรรพชิตควร
พิจารณาเนือง ๆ
ธรรมประจำสรีระ 10 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. ความหนาว 2. ความร้อน
3. ความหิว 4. ความกระหาย
5. ความปวดอุจจาระ 6. ความปวดปัสสาวะ
7. ความสำรวมกาย 8. ความสำรวมวาจา
9. ความสำรวมอาชีพ 10. ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ3
เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมประจำสรีระ 10 ประการนี้แล บรรพชิตควรพิจารณา
เนือง ๆ
สรีรัฏฐธัมมสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญาอันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด
สามารถกำจัดกิเลสได้ (องฺ.ทสก.อ. 3/48/350)
2 ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (องฺ.ทสก.อ. 3/48/350)
3 ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ หมายถึงกรรมที่เป็นเครื่องปรุงแต่งภพ คือกรรมดีแต่งให้เกิดภพใหม่ที่ดี
กรรมชั่วแต่งให้เกิดภพใหม่ที่ไม่ดี (องฺ.ทสก.อ. 3/49-50/350)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :105 }